เสือโคร่ง

เสือโคร่ง ลักษณะและสายพันธุ์ของเสือโคร่ง

เสือโคร่ง สิ่งมีชีวิตที่สง่างามสายพันธุ์นี้ ไม่เพียงเป็นสัตว์ตระกูลแมวที่ใหญ่ที่สุดเท่านั้น เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมอันดับสัตว์กินเนื้อ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Panthera tigris ในวงศ์ Felidae จัดเป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในวงศ์นี้ และเป็นเสือชนิดที่ใหญ่ที่สุดด้วย แต่พวกมันยังเป็นหนึ่งในนักล่าที่ทรงพลังที่สุดในโลกอีกด้วย เสือโคร่งโดดเด่นด้วยขนสีส้มกับลายแถบสีดำ มีกล้ามเนื้อและกรงเล็บแหลมคม เป็นเครื่องมือสำหรับล่าเหยื่อและปกป้องอาณาเขต พวกมันเคลื่อนไหวได้อย่างคล่องแคล่ว รวดเร็ว สามารถลัดเลาะไปในดงป่าได้อย่างสะดวก เราจะพาคุณเข้าสู่ใจกลางป่าลึกไปสำรวจชีวิตของสัตว์สายพันธุ์นี้ในแง่มุมต่างๆ และนี่ก็คือเรื่องราวของเสือโคร่งสุดยอดแมวใหญ่

เสือโคร่งเป็น 1 ในสัตว์ป่าที่น่าเกรงขามที่สุดในโลก พวกมันประกาศศักดาเป็นเจ้าป่าในภูมิภาคที่หลากหลายของทวีปเอเชีย ตั้งแต่ผืนป่าอันร้อนระอุของอินโดนีเซีย ไปจนถึงที่ราบหิมะอันหนาวเย็นของไซบีเรีย แมวใหญ่เหล่านี้เป็นสัตว์กินเนื้อที่รักสันโดษและหวงแหนอาณาเขต พวกมันมักออกล่าเหยื่อตามลำพังในเวลากลางคืน ด้วยความแข็งแกร่งและว่องไวเสือโคร่งจึงสามารถกำจัดเหยื่อที่มีขนาดใหญ่กว่าตัวเองได้ และนั่นทำให้พวกมันเป็นหนึ่งในนักล่าอันดับต้นๆของโลก ประชากรเสือโคร่งกระจัดกระจายไปทั่วทวีปเอเชีย ทำให้มีสายพันธุ์ย่อย 9 ชนิดแยกตามถิ่นที่อยู่ ปัจจุบันสูญพันธุ์ไปแล้วถึง 3 ชนิดทำให้เหลือ 6 ชนิดที่ยังดำรงเผ่าพันธุ์อยู่

6 ชนิดที่ยังดำรงเผ่าพันธุ์อยู่
  • เสือโคร่งไซบีเรีย เป็นชนิดที่มีขนาดใหญ่ที่สุด พบในไซบีเรียและบางส่วนของจีนที่ติดกับรัสเซีย 
  • เสือโคร่งเบงกอล เป็นชนิดที่มีประชากรเหลืออยู่มากที่สุด และมีขนาดใหญ่รองจากเสือโคร่งไซบีเรีย พบในอินเดียและเอเชียตอนใต้ 
  • เสือโคร่งอินโดจีน เป็นชนิดที่แยกมาจากเสือโคร่งเบงกอล ทำให้มีลักษณะคล้ายกันแต่ตัวเล็กกว่าเล็กน้อย พบในพม่า กัมพูชา ลาว เวียดนาม และไทย 
  • เสือโคร่งมาลายู เป็นชนิดที่แยกมาจากเสือโคร่งอินโดจีนอีกที พบในคาบสมุทรมลายู 
  • เสือโคร่งสุมาตรา เป็นชนิดที่มีขนาดเล็กที่สุดในปัจจุบัน พบเฉพาะบนเกาะสุมาตราของอินโดนีเซียเท่านั้น 
  • เสือโคร่งจีนใต้ เป็นชนิดที่มีลวดลายน้อยและมีสีสันอ่อนที่สุด พบอยู่ทางตอนใต้ของจีน
ส่วนเสือโคร่งอีก 3 ชนิดที่สูญพันธุ์ไปแล้วคือ
  • เสือโคร่งบาลี เป็นชนิดที่มีขนาดเล็กยิ่งกว่าเสือโคร่งสุมาตตา พบเฉพาะเกาะบาหลีของอินโดนีเซีย แต่ได้ถูกล่าจนหมด ตั้งแต่ทศวรรษ 1950 
  • เสือโคร่งชวา พบบนเกาะชวาของประเทศอินโดนีเซีย มีขนาดใหญ่กว่าเสือโคร่งบาหลี สูญพันธุ์ไปทศวรรษ 1970  
  • เสือโคร่งแคสเปี้ยน มีขนาดใหญ่คล้ายกับเสือโคร่งไซบีเรีย หายสาบสูญไปในปี ทศวรรษ 1970 เช่นกัน

ลักษณะของเสือโคร่ง

เสือโคร่งมีรูปลักษณ์สวยงามโดดเด่น ด้วยขนหนาๆสีส้มและลายแถบสีดำบนลำตัว ซึ่งมีประโยชน์ในการพรางตัว ช่วยให้กลมกลืนไปกับสิ่งแวดล้อม ทำให้เหยื่อมองเห็นพวกมันได้ยากขึ้น ความน่าทึ่งของลวดลายเหล่านี้คือ เสือโคร่งแต่ละตัวจะมีลวดลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของมันเอง คล้ายกับที่ลายนิ้วมือของมนุษย์ที่แต่ละคนมีความแตกต่างกัน นั่นหมายความว่าคุณจะไม่มีทางเจอเสือโคร่ง 2 ตัวที่มีลายเหมือนกันอย่างเด็ดขาด 

เสือโคร่งมีความยาวเฉลี่ยตั้งแต่หัวจนถึงโคนหาง 1.5 ถึง 3.2 เมตรและสามารถหนักได้ตั้งแต่ 108 ถึง 306 กิโลกรัม ขึ้นอยู่กับแต่ละชนิด แต่เสือโคร่งเพศผู้มักจะหนักกว่าเพศเมียในทุกชนิด เสือโคร่งตัวที่หนักที่สุดเท่าที่เคยมีการชั่งมาคือเสือโคร่งเบงกอลที่พบในรัฐอุตตรประเทศของอินเดีย ซึ่งหนักถึง 388 กิโลกรัม แต่น่าเศร้าที่มันถูกนายพรานยิงตาย ในปี 1967 จากการชันสูตรพบว่ามันเพิ่งกินควายไปทั้งตัวเมื่อไม่นานก่อนตาย ซึ่งมีส่วนให้น้ำหนักของมันสูงกว่าค่าเฉลี่ยไปมาก 

พฤติกรรมของเสือโคร่ง

ความน่ากลัวของเสือโคร่งในฐานะนักล่า อยู่ที่ฟันและกรงเล็บ พวกมันมีฟันที่แหลมคมและยาวซึ่งเหมาะแก่การฉีกทิ้งร่างของเหยื่อ เช่น จิงโจ้  ให้ขาดสะบั้น โดยฟันหน้าใช้สำหรับยึดจับและดึง ส่วนเขี้ยวขนาดใหญ่ 2 คู่ ที่แหลมเปี๊ยบใช้สำหรับสังหารเหยื่อ ด้วยการกัดคอขย้ำไขสันหลังเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายจึงขาดใจตายได้ในทันที ฟันของเสือโคร่งไม่ได้มีไว้สำหรับการฆ่าเท่านั้น หากแต่ยังมีบทบาทสำคัญในการกินอาหารอีกด้วย ฟันกรามของพวกมันนั้นแข็งแรงมาก จนสามารถบดเคี้ยวกระดูกได้ซึ่งช่วยให้พวกมันได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย อย่างแคลเซียมและฟอสฟอรัส 

ส่วนกรงเล็บของเสือโคร่งนั้นเป็นอาวุธที่ยืดหดได้ เมื่อพวกมันกำลังล่าเหยื่อหรือป้องกันตัวกรงเล็บที่แหลมคมจะยืดออก ซึ่งกรงเล็บของเสือโคร่งไซบีเรียสามารถยาวได้ถึง 4 นิ้ว เสือโคร่งจึงได้ชื่อว่าเป็นแมวใหญ่ที่มีกรงเล็บยาวที่สุด พวกมันใช้กรงเล็บในการตะครุบและจับเหยื่อ เช่นเดียวกับใช้ปีนต้นไม้และขุดหาอาหารนอกจากนั้นกรงเล็บยังเป็นส่วนสำคัญในพฤติกรรมทางสังคมของเสือโคร่ง สำหรับบ่งบอกอาณาเขตและสื่อสารกับเสือโคร่งตัวอื่น เมื่อพวกมันข่วนต้นไม้หรือก้อนหิน กลิ่นจากอุ้งเท้าจะถูกปล่อยไว้ ซึ่งช่วยประกาศอาณาเขตและเตือนเสือโคร่งตัวอื่นๆ ว่าอย่าบังอาจมาหยามในถิ่นนี้

อีก 1 อวัยวะที่น่าทึ่งก็คือหางหางคือส่วนสำคัญทางกายวิภาคของเสือโคร่ง สำหรับการดำเนินชีวิตพวกมันใช้หางในการปรับสมดุลการเคลื่อนที่ โดยเฉพาะเมื่อต้องล่าสัตว์หรือเดินไปในภูมิประเทศที่ขรุขระ หางที่ยาวและแข็งแรงใช้บังคับและเปลี่ยนทิศทางได้อย่างรวดเร็ว ช่วยให้พวกมันเลี้ยวอย่างลื่นไหลและหักหลบสิ่งกีดขวางอย่างง่ายดาย อีกทั้งหางยังมีบทบาททางสังคมในการสื่อสารระหว่างเสือโคร่งด้วยกันด้วย หางที่ยกขึ้นแสดงถึงความก้าวร้าวหรือการครอบงำ ส่วนหางที่ตกลงบ่งบอกถึงการยอมจำนนหรือความกลัว ระหว่างการเกี้ยวพาราสีเสือคล่องตัวผู้มักถูหัวและหางกับตัวเมีย โดยทิ้งกลิ่นไว้เพื่อบ่งบอกให้เธอรู้ว่ามันพร้อมแล้วสำหรับการผสมพันธุ์

การสืบพันธุ์ของเสือโคร่ง

ฤดูผสมพันธุ์ของเสือโคร่ง อยู่ระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเมษายน แต่พวกมันสามารถผสมพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี ตัวเมียที่พร้อมผสมพันธุ์จะประกาศอาณาเขตด้วยกลิ่นเฉพาะตัวดึงดูดตัวผู้ให้เข้ามาในพื้นที่ บางครั้งตัวผู้จะต่อสู้ชิงชัยกันเพื่อแย่งสิทธิ์ในการครอบครองตัวเมีย หลังผ่านพ้นช่วงผสมพันธุ์เสือโคร่งตัวเมียจะใช้เวลาตั้งท้องประมาณ 100 วัน แล้วจึงคลอดลูกเสือน่ารักน่าชังออกมาโดยคอกหนึ่ง อาจมีตั้งแต่ 1 ตัวถึง 7 ตัว ลูกเสือโคร่งแรกเกิดจะมีน้ำหนักราว 1 กิโลกรัมและตาปิดเช่นเดียวกับสัตว์ตระกูลแมวชนิดอื่นๆแต่ตาของพวกมันจะเปิดภายใน 6-12 วัน 

ลูกเสือโคร่งจะได้รับการดูแลปกป้องจากแม่อย่างดีในช่วง 6 สัปดาห์แรกของชีวิต เพราะลูกเสือตัวน้อยๆที่ยังไม่แข็งแรงพอที่จะปกป้องตัวเอง มีความเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อของนักล่านานาชนิด เมื่ออายุ 7 สัปดาห์พวกมันจะกินอาหารแข็งที่แม่นำมาให้ แล้วใช้เวลาส่วนใหญ่ในการเล่นต่อสู้กัน ซึ่งช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อและทำให้เรียนรู้ทักษะการล่าเหยื่อจากนั้นเมื่ออายุได้ 8-10 เดือน ลูกเสือโคร่งก็พร้อมสำหรับการออกไปล่าสัตว์กับแม่ ลูกเสือโคร่งจะอาศัยอยู่กับแม่จนอายุประมาณ 2 ขวบแล้วจึงออกไปใช้ชีวิตด้วยตัวเอง

นักล่าเสือโคร่ง

เนื่องจากขนาดตัวใหญ่และพละกำลังมหาศาล เสือโคร่งผู้น่าเกรงขามจึงไม่ค่อยมีสัตว์ชนิดใดกล้าต่อกลอนด้วยมากนัก ยกเว้นช้างและหมี ที่สามารถเป็นภัยคุกคามต่อพวกมันได้ในบางครั้งส่วนลูกเสือที่ยังไม่โตก็อาจตกเป็นเป้าหมายของสัตว์นักล่าชนิดอื่น เช่น ไฮยีน่า จระเข้ และงู แต่หลักๆแล้ว สัตว์เพียงชนิดเดียวที่ทำร้ายเสือโคร่งได้มากที่สุดก็คือสัตว์ประเสริฐอย่างมนุษย์เรานี่เอง เสือโคร่งถูกมนุษย์ล่าเพื่อเอาผิวหนัง ขน ฟัน และส่วนอื่นๆของร่างกายไปใช้ประโยชน์ บางครั้งพวกมันยังถูกจับและขายให้กับบุคคลทั่วไปในฐานะสัตว์เลี้ยงหายาก ซึ่งมักไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม 

นอกจากนั้นการรุกล้ำพื้นที่และการตัดไม้ทำลายป่า ยังทำให้เสือโคร่งบางส่วนต้องสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยไปอีกด้วย เสือโคร่งที่อาศัยอยู่ในป่ามีอายุขัยประมาณ 10-15 ปี ส่วนเสือโคร่งในสวนสัตว์สามารถอยู่ได้ถึง 20 ปีหรือนานกว่านั้น ในบรรดาเสือโคร่งทั้ง 6 ชนิดย่อย เสือโคร่งเบงกอล เป็นสายพันธุ์ที่มีประชากรมากที่สุดคือราว 2,500 – 3,750 ตัว แต่ชนิดอื่นๆนั้นถือว่าอยู่ในภาวะวิกฤตและมีความเสี่ยงสูงที่จะสูญพันธุ์ ในอดีตเราเคยสูญเสียเสือโคร่งไปแล้วถึง 3 ชนิดจากการรุกรานของมนุษย์ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของมนุษย์เราที่จะปกป้องอนาคตของพวกมันเอาไว้เพื่อให้คนรุ่นหลังได้มีโอกาสชื่นชมความยิ่งใหญ่และงดงามของแมวใหญ่สายพันธุ์นี้ต่อไป

สัตว์ป่าเพิ่มเติม : worldofanimals.co
เกร็ดความรู้อื่นๆ : ม้าลาย