สัตว์ป่าสงวน

“สัตว์ป่าสงวน” หมายความว่า สัตว์ป่าหายาก หรือ สัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ จำเป็นต้องสงวนและอนุรักษ์ไว้อย่างเข้มงวดตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติ สำหรับพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ได้บรรจุบัญชีสัตว์ป่าสงวนของไทยไว้จำนวน 19 ชนิด

พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้ โดยเริ่มวันแรกเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา เดิมทีสัตว์ป่าสงวนพระราชบัญญัติฉบับเดิมมีจำนวน 15 ชนิด โดยก่อนหน้านี้มีพะยูนเป็นสัตว์ทะเลชนิดเดียว ปัจจุบันพระราชบัญญัติฉบับใหม่ได้บรรจุบัญชีชื่อสัตว์ทะเล เป็นสัตว์ป่าสงวนชนิดใหม่อีก 4 ชนิด จึงเท่ากับมีสัตว์ทะเลเพิ่มเป็น 5 ชนิด 

กลุ่มสัตว์ป่าจำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

  1. กระซู่ 
  2. กวางผา 
  3. กูปรีหรือโคไพร 
  4. เก้งหม้อ 
  5. ควายป่า 
  6. พะยูนหรือหมูน้ำ 
  7. แมวลายหินอ่อน
  8. แรด 
  9. ละองหรือละมั่ง 
  10. เลียงผาหรือเยืองหรือกูรำหรือโครำ
  11. วาฬบรูด้า 
  12. วาฬโอมูระ 
  13. สมเสร็จ 
  14. สมันหรือเนื้อสมัน

สัตว์ป่าจำพวกนก

  1. นกกระเรียน 
  2. นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร 
  3. นกแต้วแล้วท้องดำ

สัตว์ป่าจำพวกสัตว์เลื้อยคลาน

  1. เต่ามะเฟือง

สัตว์ป่าจำพวกปลา

  1. ปลาฉลามวาฬ

ข้อมูลจาก : พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562

โทษของการล่าสัตว์ป่าสงวน

เดิม อัตราโทษสูงสุดของการล่าสัตว์ป่าสงวน จำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือ มีโทษทั้งจำทั้งปรับ

ปัจจุบัน ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ห้ามมิให้ผู้ใดล่าสัตว์ป่าสงวน หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี จนถึง 15 ปี หรือ ปรับตั้งแต่ 300,000 – 1,500,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ

**โดยบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว มีผลบังคับใช้ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 

ข้อมูลจาก : พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562

กฎหมายสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าเพิ่มเติม : www.portal.dnp.go.th/DNP/FileSystem/download?uuid=94924f8b-585d-41c1-8a22-d8b33478b117.pdf

ความสำคัญสัตว์ป่าสงวน

อดีตประเทศไทยมีพื้นที่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาศัยของ สัตว์ป่านานาชนิด จึงทำให้เกิดการล่าสัตว์โดยไม่เล็งเห็นถึงความสำคัญต่อระบบห่วงโซ่อาหารในป่า และยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองใดๆ จึงส่งผลให้มีการล่าสัตว์เพื่อการค้า ล่าเพื่อเป็นอาหาร เครื่องนุ่งห่ม และของประดับ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสัตว์ป่าที่มีจำนวนลดลงอย่างรวดเร็ว จนมีสัตว์บางชนิดได้สูญพันธุ์ไป นั่นก็คือ สมัน ซึ่งเป็นกวางที่มีเขาสง่างามชนิดหนึ่ง ในปี พ.ศ. 2503 ภาครัฐจึงได้ร่วมมือกับองค์กรอนุรักษ์ต่างๆตระหนักถึงคุณค่าของสัตว์ป่า และผลักดันให้เกิด กฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่า ฉบับแรกของประเทศไทย คือ พระราชบัญญัติสงวน และ คุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2503 ซึ่งในกฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดสัตว์ป่าที่หายากเป็น สัตว์ป่าสงวน”จำนวน 9 ชนิด คือ แรด กระซู่ กูปรีหรือ โคไพร ควายป่า ละองหรือละมั่ง  และสมันหรือเนื้อ สมันทรายหรือเนื้อทราย หรือตามะแน เลียงผาหรือเยืองหรือกูรำ หรือ โครำ และ กวางผา

สถานะการอนุรักษ์

สัตว์ป่า เป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญของระบบนิเวศทางธรรมชาติ ซึ่งมีประโยชน์ต่อมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่ปัจจุบันได้มีการปรับเปลี่ยนและเปลี่ยนแปลงถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า จึงทำให้สัตว์ป่าต้องโดนบุกรุกถิ่นที่อยู่อาศัย ตลอดจนการล่าสัตว์ป่าแบบผิดกฎหมาย จึงส่งผลกระทบต่อสถานภาพและการดำรงชีวิตของสัตว์ ทำให้สัตว์บางชนิดใกล้สูญพันธ์ จึงได้มีการกำหนดและบังคับใช้กฎหมายเพื่อการ อนุรักษ์สัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์  และฟื้นฟูธรรมชาติ เพื่อให้ป่าเป็นแหล่งอาหารที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า โดยช่วยกันรณรงค์และประชาสัมพันธ์ให้ทุกคนมองเห็นถึงความสำคัญของสัตว์ป่า ตลอดจนการใช้ประโยชน์สัตว์ป่าอย่างยั่งยืน

แหล่งที่มาข้อมูล : www.portal.dnp.go.th/p/WildlifeConserve
ความรู้เพิ่มเติม : สัตว์ป่า